![]() |
ดานัง |
![]() |
หาดหมีเค ดานัง |
Perception คำ "กระจายอำนาจ" กับมหานครยุคใหม่
เวียดนามจัดรูปแบบการปกครองแบบเมืองใหญ่ ให้แยกออกจากระบบจังหวัด เช่น เมื่อปี 2540 ดานัง ออกมาเป็นเขตเมืองพิเศษโดยตรงภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลาง
รูปแบบที่ว่าก็คือการบริหารเขตนคร Large City ที่มีคนหนาแน่น เศรษฐกิจสูง ให้แยกออกจากเมือง หรือจังหวัด อำเภอทั่วไป ปัจจุบันมี 6 นครได้แก่ ฮานอย เว้ โฮจิมินห์ กานโถ ไฮฟอง และ ดานัง
ล่าสุด ดานัง ดูจะใหญ่โต คึกคักกว่าเชียงใหม่แล้ว ทั้งขนาดเมืองและเศรษฐกิจ
นครดานัง มีขนาดเมือง 1,285 ตร.กม. ส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่มีขนาด 40.216 ตร.กม.
เอาล่ะมันเทียบกับไม่ได้เพราะกายภาพของตัวเมืองนครเชียงใหม่ คลุมไป 5 อำเภอ เมือง สันทราย หางดง แม่ริม สารภี แต่ว่า อำนาจและทิศทางมันกระจัดกระจายไง อบต.เทศบาล รอบๆ ที่ติดกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ ก็ว่ากันไปแบบของเขา เทศบาลนี้เพื่อไทย อีกเทศบาลก้าวไกล ซะป๊ะแนว
คำว่าเขตตัวเมืองเชียงใหม่จริงๆ จึงหานิยามไม่ลงตัว เอาอะไรเป็นหลักดี ที่แน่ๆ คือเอาการปกครองและทิศทางบริหารจัดการมาวัดไม่ได้ เพราะมันไปคนละทิศ
ดานัง กลายเป็นเมืองหลักภาคกลางเวียดนาม เป็นทั้งการค้า การผลิต การลงทุน และท่องเที่ยว สภาพตามถนนซอกซอยมีรกๆบ้าง มันก็ไม่ได้ทันสมัยอะไรมากหรอก แต่ภาพรวมคือ เป็นเมืองที่พุ่งทะยานต่อเนื่อง โตเร็วมาก
ดิจิตอลนอแมด ที่เคยใช้เชียงใหม่เป็นเมืองพัก ก็ทยอยย้ายไปดานัง นี่เรียกว่าคู่แข่งได้ไหม
รูปแบบการจัดการปกครองแบบเวียดนาม ไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่จัดรูปแบบอำนาจโดยเอาพื้นที่มุ่งเป้าเมืองใหญ่เป็นหลัก เพราะยุคนี้เป็นยุคที่เมืองกับเมืองแข่งขันกัน เป็นยุค Urbanization
----------
นครโอซาก้า ก็ไม่ได้จัดรูปแบบปกครองแบบจังหวัดนะครับ ญี่ปุ่นแยกการบริหารออกมาเป็นมหานคร Ōsaka-shi, 大阪市 ซึ่งมีความพิเศษและแตกต่างจากการปกครองในระดับจังหวัดทั่วไปของญี่ปุ่น
นครโอซาก้าเป็นเมืองที่ได้รับการกำหนดให้เป็น "เมืองที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล" (Seirei Shitei Toshi, 政令指定都市)
ประมาณกรุงเทพมหานครนั่นล่ะ ก็คือ ให้ภารกิจขนาดใหญ่และมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองมากกว่าเทศบาลทั่วไป
นครโอซาก้า ไม่ขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโอซาก้า: แม้ว่านครโอซาก้าจะตั้งอยู่ใน จังหวัดโอซาก้า (Ōsaka-fu, 大阪府) และก็มี มีสภาเมืองและนายกเทศมนตรีของตนเองที่มาจากการเลือกตั้ง และมีนายกเทศมนตรี (市長, Shichō)
ญี่ปุ่นมีนครใหญ่ๆ ที่แยกออกมาจัดการแบบนคร ไม่ขึ้นกับผู้ว่าฯจังหวัด หรือ "เมืองที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล" (Seirei Shitei Toshi, 政令指定都市) อีกมาก เช่น ซัปโปโร ไซตามะ ชิบะ โยโกฮาม่า โกเบ เกียวโต เป็นต้น
---------
รูปแบบญี่ปุ่น : กระจายอำนาจ เพื่อจัดการปกครองเขตมหานคร
รูปแบบเวียดนาม : รัฐบาลรวมศูนย์อำนาจกระทรวงต่างๆ เพื่อจัดการเขตมหานคร
รูปแบบไทย : จังหวัดแบ่งอำนาจจากรัฐบาลรวมศูนย์ แต่กระจัดกระจาย ไปตามกระทรวง กรมต่างๆ เขตมหานครอยู่ตรงไหนไม่รู้ เข้าใจว่า รวมๆ อยู่ในเขต 5 อำเภอ แต่ทั้งผู้ว่าและนายอำเภอ ไม่มีอำนาจ วางแผนจัดการ พัฒนา
ดังนั้น ย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุด คือ แยกเมญ่านิมมานเหมินท์ จึงแปลกประหลาด เทศบาลนครก็ดูแต่อำนาจจำกัดแค่เก็บขยะทางระบายน้ำ ถนนเป็นของกรมทางหลวง ออกแบบมาได้เละเทะ เอาแต่รถวิ่งไม่รองรับคนเดิน ทั้งๆ ที่ย่านดังกล่าวเป็นย่านคนเดิน
ไม่มีหน่วยงานวางแผนพัฒนาย่าน ให้มันครบลูป ให้มันขยายอย่างทันสมัยยั่งยืน เพราะไม่มีหน่วยไหนมีอำนาจ แค่จะทำทางลอดให้คนเดิน ถนนห้วยแก้ว ก็หน่วยหนึ่ง ถนนนิมมานก็อีกหน่วย สายไฟฟ้าก็อีกหน่วย ท่อน้ำประปาก็อีกหน่วย
นี่ทางหลวงก็จะทำวงแหวนรอบ 4 เป็นขอบเขตของย่านมหานคร ทำวงแหวนแล้วไง อะไรอยู่ตรงไหน ทางหลวงที่เขาออกแบบที่แยกรอบนอก เน้นรถวิ่งเร็ว วงเวียนใหญ่ๆ รถเล็กจักรยานวิ่งไม่ได้ แต่นั่้นคืออยู่ในขอบเขตปริมณฑลเมืองนคร metropolis ในอนาคตนะเฮ้ย ทางหลวงออกแบบไฮเวย์ แต่มหานครต้องการ บูเลอวาร์ด แบบมหานครอื่นๆ เขาออกแบบถนนในเมือง ที่ให้ทั้ง คนเดิน รถเล็ก รถสาธารณะ และย่านการค้าอาศัยกัน
—————-
หากจะพัฒนายกระดับการบริหารจัดการมหานคร urbanization ยุคใหม่ของเรา ควรต้องเอาขอบเขตพื้นเมืองเป็นหลัก และแยกให้ออกจากวาทกรรม กระจายอำนาจทั้งจังหวัด / หรือรวมศูนย์อำนาจปกครองแบบภูมิภาค
กระจายอำนาจทั้งจังหวัด V.S ผู้ว่าฯ ซีอีโอภูมิภาค อยู่คนละฟากปลายฝั่ง (และก็ยังคนละเรื่องกับประเด็นที่เขียนวันนี้)
จังหวัดจัดการตนเองรวมอมก๋อย พร้าวทั้งจังหวัด ส่วนยังให้อำนาจผู้ว่าภูมิภาค มีอำนาจ ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ไม่สามารถจัดการมหานครเขตเมือง ใช่ไหม
มันยังเป็นคนละเรื่องเดียวกับที่เขียนวันนี้ ซึ่งเน้นปริมณฑลเมือง City (ไม่ใช่ provincial) นะครับ ทำไงให้วงกลมมันทับกันและเป็นไปได้จริงในเชิงปฏิบัติจริง
…….
วันนี้เลือกนายกเทศมนตรี แบบกระจัดการกระจาย ผมก็ต้องออกไปเลือกนายกเทศบาลตำบลของผม ข้ามถนนไปนิดเดียวก็อีกเทศบาล เข้าใจล่ะว่าดูแลท้องถิ่น
1 เขตมหานครภายภาพ มี 30 นายกเทศมนตรี แบ่งปันเขตอำนาจ
ก็จะได้อยู่แค่นี้แหละ ดังนั้น Chiang Mai Metropolis มันก็จะไม่มีทางเกิด แบบเดียวกับ โอซาก้า ดานัง แค่ถามว่าหน่วยไหนที่จะทำตลาดตรงกับต่างประเทศ หน่วยไหนวางแผนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเชื่อมโยง สนามบิน รถรา และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เอาแค่รถกระโดดขึ้น เชื่อมแหล่งต่างๆ ระหว่างอำเภอเป็นอำนาจใคร ถ้าตอบว่าอำนาจอธิบดีก็จบเห่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น