วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

14 คลัสเตอร์่ป่า : ประชาชนผลักดันให้เป็นนโยบายรัฐ





ประชาชนผลักดันให้เป็นนโยบายรัฐ


---------

นโยบายบริหารจัดการพื้นที่ป่าแปลงใหญ่เสี่ยงเผาไหม้ 14 กลุ่มป่า (Cluster) ที่ทำปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันของผม และพี่ๆ ในมูลนิธิสภาลมหายใจภาคเหนือครับ คือที่ผ่านมาเราเกิดมีสภาลมหายใจแต่ละจังหวัดส่วนสภาระดับภาคเหนือนั้น ตั้งใจทำเรื่องนโยบายและข้อมูลวิชาการเป็นสำคัญ (ซึ่งก็ยอมรับว่าประสาองค์กรเพิ่งเริ่มแต่โตเร็ว อยู่ไปๆ ก็ไม่ได้ประสานงานกับสภาจังหวัดต่างๆ เป็นเนื้อเดียวกันสักเท่าไร)

ที่บอกว่า "ส่วนหนึ่ง" เพราะเราแค่ "เริ่มผลัก" เป็นแค่สารตั้งต้น
ปลาตัวใหญ่ของวิกฤตภาคเหนือคือไฟในป่า วิธีการอย่างไรล่ะ เราก็ควานหากันมา ย้อนหลังไปดูมันก็มีพัฒนาการของมัน

จำได้ว่าคุณวิทยา ประสานงานผ่านพรรคเพื่อไทย และผ่านคุณแซนด์ ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ตอนที่รัฐบาลอุ๊งอิ๊งกำลังเริ่มตั้ง ตอนนั้นยังไม่แถลงนโยบายเลย รัฐบาลก็ส่งท่านปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ จตุพร บุรุษพัฒน์ ท่านก็เล่นใหญ่เลย ยกทีมอธิบดีสำคัญๆ ป่าไม้ อุทยาน คพ.มาหมด

ประเด็นผลักเสนอต่อรัฐบาลคือ ปัญหาการประสานงานและบูรณาการ พื้นที่ไฟใหญ่ที่เป็นรอยต่อและเป็นจุดอ่อน ซึ่งได้เห็นรูปธรรมของปัญหาเมื่อฤดูก่อนหน้า ไฟในป่าสงวนข้ามเขตจังหวัด ฝั่งโน้นไม่มีคน ไม่มีกำลัง ขาดกลไกประสานจริงๆ

เสนอให้ผนวกรวมกรมป่าไม้ ป่าสงวนเข้ามาในแผนปฏิบัติการไฟแปลงใหญ่เดิม เสนอระบบสั่งการบัญชาการคลัสเตอร์ที่ตอนแรกมองไปที่มหาดไทย เพื่อจะบูรณาการได้เบ็ดเสร็จจริง ผมเสนอไปแค่ 8-กลุ่มป่าคลัสเตอร์เท่านั้น

ทีมงานกระทรวงทรัพย์มองขาดกว่า ท่านได้ตั้งคณะทำงานร่วมป่าไม้อุทยานคพ. แล้วก็เติมกลุ่มป่าที่เรามองไม่เห็นเพิ่มมา เป็น 14 กลุ่มป่า ไม่ทราบว่าคุยอะไรในระบบภายใน กลไกจึงออกมาเป็นการบูรณาการ"ภายใน" กระทรวง รวบเอาหน่วยสังกัดป่าไม้ อุทยาน ทสจ. เข้ามาทั้งหมด มีหัวหน้าใหญ่ ซีอีโอ.บัญชาการ ที่ข้ามเขต ข้ามจังหวัดก็มี
ขอบคุณที่เปิดรับประชาชนเข้าไปมีส่วนจริงจังนะครับ

ผลการทำงานปีนี้ ตัวเลขรอยไหม้ทางการจากจิสด้ายังไม่ออก แต่จุดความร้อนออกแล้ว ลดลงมาก ลดลงชัดเจน สำหรับป่าอนุรักษ์กรมอุทยาน ของกรมป่าไม้ยังไม่เห็น

กรมอุทยานแจ้งมาว่า จะถอดบทเรียน AAR เดือนมิถุนายน เมื่อนั้นคงเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

--------

ผมกำลังทยอยเตรียมข้อมูลเพื่อสะท้อนความเห็นในฐานะคนนอก ที่มองอยู่ข้างๆ

เรื่องคลัสเตอร์กลุ่มป่า

1. /ยอมรับว่า ท่านปลัด ท่านอธิบดี มีความเก๋า เข้าใจระบบกลไกราชการ กลไกงบประมาณ ท่านจึงเอาข้อเสนอไปปรับเติมและยกระดับได้กว่าที่เราที่่เป็นประชาชนมอง

แรกทีเดียวเราก็คาดหวังแค่ห้ามไฟแปลงใหญ่ให้มีประสิทธิภาพขึ้น บูรณาการทำงานใกล้ชิดขึ้น แต่กระทรวงมองต่อในแง่เทคนิค เสนอของบกลาง 620 ล้านบาท เพื่ออุดช่องโหว่ปัญหาเดิมๆ คือ งบกรมป่าไม้ไม่มีทำงานเพราะถ่ายโอนภารกิจไปให้ อปท. กับเรื่องการเพิ่มขนาดกำลังคนภาคป้องปราม จ้างชาวบ้านร่วมเฝ้า ลาดตระเวน

ประเด็นนี้เป็นจุดแข็งของปี 2568 ที่มีการอุดหนุนกลไกและช่องโหว่โดยรัฐบาล แต่จะเป็นจุดอ่อนของปี 2569 เพราะไม่ใช่งบฟังก์ชั่น รอทิศทางนโยบายรัฐบาล ถ้าการเมืองเปลี่ยน หรือแม้กระทั่งปลัดกระทรวงก็จะเปลี่ยน

2./ โครงสร้างการบริหารสั่งการภายใน ยังเป็นของใหม่ ระดับกระทรวง/กรม ส่วนกลาง ท่านสั่ง และโยกหน่วยในภาพใหญ่ได้

แต่ระดับคลัสเตอร์ ยังมีลูกเกรงใจ ลูกที่มองไม่ออกว่าอันตราย เช่นเกิดไฟลามหลายวันพื้นที่ป่าอุตรดิตถ์ ตรงนั้นอยู่ใต้คลัสเตอร์ กลุ่มป่าเหนือเขื่อนสิริกิตติ์ ผอ.สบอ. ที่แพร่ ต้องข้ามมาสั่งการ สบอ.พิษณุโลก (ขออนุญาตยกตัวอย่างตรงๆ เพราะนี่เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่ความบกพร่องอะไรมาก)

พอเข้าใจล่ะว่า การบริหารคลัสเตอร์เป็นเรื่องภายในของหน่วยงานฝ่ายป่า จึงไม่จำเป็นต้องสื่อสารอะไรออกไปมาก จะทับซ้อนกับโครงสร้างไลน์หลัก ระดับจังหวัดเปล่าๆ แต่มันก็ควรมีการสรุปผลหลังจบ สื่อสารต่อภายนอกอยู่ดี นี่เป็นชุดมาตรการตามมติ ครม. ของบกลาง นะครับ

3./ ยังมีโหว่

แต่ละกลุ่มป่ามีขนาดพื้นที่ใหญ่มาก หน่วยงานในนั้นไม่น้อยกว่า 10 ที่ทำงานด้วยกัน ปีนี้ ไฟน้อยลงก็จริง แต่พอส่องดูรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ ก็พบว่า มีป่าที่ถูกไหม้แบบข้ามหลายวัน ท้ั้งที่เป็นต้นฤดู เช่น ในเขตตาก

มันมีปัญหาระหว่างศูนย์บัญชาการศาลากลาง โดย ผวจ. กับ ศูนย์บัญชาการท คลัสเตอร์ของ สบอ.หรือเปล่า ที่จะให้เน้นตรงไหน ทุ่มกำลังที่ใด หรือโยกกำลังไปตรงไหน

ที่เชียงใหม่ มีป่าที่ยกระดับดูแลได้ดีมากๆ เป็นตัวอย่าง MVP เช่น ออบหลวง ขสป.เชียงดาว แต่ป่าสงวนใกล้ๆกัน โบ๋ มีไฟมากต่อเนื่อง เช่นรอยต่อดอยเต่า หรือ ที่หัวโท รอยต่อเชียงดาว-ไชยปราการ นั่นก็รวมในคลัสเตอร์ด้วยใช่ไหม

ที่แพร่ แม่ยม รูปแบบพฤติกรรมไฟยังเหมือนเดิม ขณะที่พะเยา เวียงลด ภูกามยาวก็ยังเดิมๆ

อะไรเหล่านี้แหละ ที่ควรหยิบมาถอดบทเรียน จะได้อุดช่องในปีหน้า เพราะการถอดบทเรียนไม่ใช่แค่เอาชัยชนะตัวเลขดีงามมาเฉลิมฉลอง ใช่ไหมครับ

4/. ข้อสั่งการที่ยังสับสน

ปีนี้มีสับสนในช่วงต้นกุมภาพันธ์ รัฐบาลยกระดับสั่งห้ามเผาเด็ดขาด แปลว่า ชิงเผาภาครัฐก็ห้ามนะ มีผลต่อแผนของฝ่ายป่า บางพื้นที่ก็ยังทำอยู่ที่จำเป็น บางพื้นที่ก็งดเด็ดขาดเช่นเชียงใหม่่ บางพื้นที่ต่อรองกันปกครองให้ตรึงไว้ ฝ่ายป่าทำงานกับชาวบ้านบอกอั้นไม่อยู่แล้ว

 แม่ฮ่องสอนช่วงปลายแทบเอาไม่อยู่ ไม่รู้เพราะตอนแรกสื่อสารกับชาวบ้านไปแบบ ปกครองขออีกแบบหรือไม่ อันนี้ผมก็ไม่รู้นะ อยากรู้
เรื่องแบบนี้ มันควรถอดออกมา ให้เห็นกัน เพื่อจะสื่อสารไปยังฝ่ายนโยบายสั่งการต่อไป

5/ ต่อเนื่องจากข้อสี่ ปกติฝ่ายป่า มีการใช้ไฟภายใน ก็เอามาพูดในวงประชุมทุกปี แต่มันไม่ชัดว่า แบบไหน แค่ไหน อย่างไร สถานีไฟบางแห่ง ยังเคยชินกันการเผาลาม ให้จบๆ ต้นฤดู ขณะที่งานวิชาการต้องการให้ควบคุม ให้เล็ก ให้จบ

หรือถ้ามาแบบปีนี้ ต่อรองกันให้ทำงานได้...ต่อไปจะเอาแค่แนวดำดีไหม หรือ ถ้าจะมีก็ให้เป็นอำนาจ ซีอีโอ. เพราะหากข้ามไปปีเอลนิโย่ มันจะลำบากที่จะห้ามไฟเข้าป่าดิบ ป่าสน ให้ได้ ฯลฯ
ผมเสนอดังๆ ว่า ขอฝ่ายป่าคุยเรื่องนี้ให้ชัดเจน ให้เคลียร์ลงไปถึงผู้ปฏิบัติ ชิงเผาแบบลามตามใจขอไม่ให้มีอีกแล้วได้ไหมครับ

6/ การเมือง

การเมืองใหญ่ไม่นิ่ง การเมืองภายในกระทรวงก็จะมีตำแหน่งผู้บริหาร มันกระเทือนแนวทาง วิธีทำงานระหว่างปี
7-8-9-10 / กำลังเขียนต่อ

-------

การที่ประชาชนสามารถเสนอผลักประเด็นอะไรพวกนี้ได้สำเร็จ มาจากฝ่ายนโยบายและกลไกราชการที่ใจกว้างและเห็นว่ามีน้ำหนัก ปัญหาวิกฤตมลพิษเป็นเรื่องใหญ่ระยะยาวของสังคม ต้องอยู่เหนือพรรคและฝักฝ่ายการเมือง ต้องขอบคุณพรรคเพื่อไทย และผู้บริหารกระทรวงทรัพย์ที่เปิดรับ

ที่สุดแล้วมันก็คือข้อเท็จจริง ปัญหาจริงๆ และเป้าหมายลดวิกฤตผลกระทบจริงๆ ที่เป็นไปได้ทางปฏิบัตินั่นล่ะ สำคัญที่สุด เรื่องนี้มันใหญ่และซับซ้อน เกี่ยวกับ interested group ทุกเซกเมนท์ ถ้าชุดข้อเสนอ ไม่มองข้อมูลให้ครบ กลุ่มเกี่ยวข้องให้ครบฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับผลกระทบ
ถ้าเสนอไม่ครบ ไม่ละเอียด ไม่ครอบคลุม ชุดข่้อเสนอดังกล่าวนั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับ

-----------
ต่อจากเรื่องของการยอมรับเป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง

ปีนี้จะมีวิวาทะว่าด้วย ชิงเผากับห้ามเผาแน่นอน ผมคิดว่าการตั้งญัตติ Zero burns v.s Fire Management มันก็มีปัญหาหากไม่นิยามให้ชัด ว่า เพื่อแก้ปัญหาอะไร และอยู่ใน term บริบทเรื่องอะไร

มีบางฝ่ายเชื่อว่า แนวทางจัดการป่าไม้ของหน่วยงานไทย ห้ามใช้ไฟเด็ดขาด แม้กระทั่งป่าเต็งรัง ต้องผลักดันให้เผาได้ เฮ้ยยยยย... มันใช่เหรอ ฝ่ายป่าเขาก็ใช้ไฟในป่าแบบนี้กันบ่อยจะตาย ปีนี้ก็ยังมีใช้ มันก็ห้ามบางช่วงแค่บางเขต ดังนั้นเวลาตั้งกระทู้เพื่อโต้วาที ต้องระวังการนิยามคำจำกัดความอะไรเหล่านี้ก่อน ไม่งั่้นเสียเวลาชีวิต เสียเวลาห้องประชุม

ประเด็นของผมก็คือ วิธีการจัดการของบ้านเรา ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็ตาม มันยังมีปัญหา ก็ต้องผลักดันยกระดับและอุดช่องปัญหานั้นต่อๆ ไป หากจะดื้อทำแต่มันกระทบคนมาก ก็ไม่ควรให้ทำ เช่น การให้ชิงเผาแบบกว้างขวางแต่ไม่เน้นเงื่อนไขข้อห้าม มันก็ชิงเผากันแหลกลาญ ส่วนใหญ่ลาม ผลกระทบสูง จะปล่อยให้ทำต่อไม่ได้หรอก ก็ต้องดึงกลับมา ทั้งภาครัฐภาคประชาชน

ผมจึงขี้เกียจเถียงทางโซเชียลทีละประเด็นย่อยๆ เหมือนตีปิงปอง รอเวทีใหญ่ๆ ที่มีบันทึก มีการอัดเทปลงยูทูปยาวๆ ไปเลย มันจะดีที่สุด

-----

ปีที่ผ่านมาอากาศดีขึ้น ปัจจัยการยกระดับบริหารจัดการมีผลแน่นอน ผมเองสามารถออกไปใช้ชีวิตในเดือนเมษายนโดยไม่ต้องรู้สึกผิดว่าทอดทิ้งน้องๆ ทีมงาน ขอบคุณรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องฝ่ายการเมืองฝ่ายประจำทำให้รู้สึกว่า ในความมืดเวิ้งว้างมาสิบกว่าปีที่จริงมันมีแสงสว่างทางออกอยู่นะ

ปีนึงๆ ขอส้มแดงไม่มาก แบบปีนี้ อย่าให้เข้ม อย่าให้ม่วง มีความเป็นไปได้ที่รอคอยเราอยู่


เริ่มจากต้องเอาจริงกันต่อไป...ปลุก ๆ ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น