วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2568

วิกฤตที่แท้จริง เช้า 16 มีนาคม 2568

 








วิกฤตที่แท้จริง

เช้า 16 มีนาคม 2568
ค่าฝุ่นภาคเหนือเป็นสีแดงทั้งภาค อากาศรายชั่วโมงจาก dustboy สูงสุดอยู่แถวเชียงดาว-ไชยปราการ ที่ไหม้ต่อเนื่องมาหลายวัน อยู่ระหว่าง 300-400 มคก. /ลบ.ม. ใน 20 อันดับแรก อยู่ทางซีกซ้าย และแวกชายแดน เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน เชียงราย
อากาศรายชั่วโมงที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ช้างเผือก สีส้ม ระดับ 65-75 มคก. ในเมืองดูดีกว่ารอบนอกชายแดนที่เผากันมาก
แม่สายหนักมาก รายชั่วโมง เครื่อง ค.พ. เมื่อคืนขึ้นไปแตะ 250 มคก. ส่วนแม่สะเรียงชายแดนตอนล่าง เมื่อคืน 111 มคก. อากาศแนวชายแดนทั้งหมด รับผลกระทบจากลมที่พัดจาก ตก/ใต้ ทะแยงซ้ายจากพม่าเข้ามา
ลมตะวันตก เริ่มเปลี่ยนราวกลางเดือนมีนาคมทุกปี ... ปีนี้ก็เช่นนั้น
จุดความร้อนในพม่าแตะ 1 หมื่นจุด/วัน (เมื่อวาน 9949 จุด) ปกติพม่าซึ่งเผามากที่สุด จะเผาในเดือนมีนาคม-เมษายน เดือนละราว 1 แสนจุด รวมกันเกินกว่า 2 แแสนจุุด มากที่สุดในอาเซียน
เมื่อลมตะวันตกเปลี่ยนพัดเข้ามาตั้งแต่กลางมีนาคม ทำให้ค่าอากาศในภาคเหนือยกขึ้นทันที ต่อเนื่องไปและจะพีคสุดในเดือนเมษายน
แพทเทิร์นอากาศย้อนหลังทำให้เรารู้ว่า ในระหว่างนี้มีฝุ่นข้ามแดนเข้ามาเป็นแบ็คกราวด์ เติมค่าอากาศในประเทศ ใกล้ชายแดนกระทบมาก ห่างออกมามีผลราว 15-30% ตามแต่ช่วงเวลาและความเข้มข้น
การเผาในประเทศสูงสุดในเดือนมีนาคมทุกปี ปีนี้ก็กำลังจะเข้าสู่แบบแผนเดิม
เมื่อคืนมีการเผาเปิดไฟใหม่หลายพื้นที่ เช่น ที่เชียงดาวซึ่งไหม้มาหลายวันแล้ว เมื่อคืนมีการเปิดใหม่รอบนอก เหมือนตั้งใจจะล้อมวงชั้นใน ให้พื้นที่เผาขยายสูงสุด
ที่แม่แตง อินทขิล ที่แม่วิน/แม่วาง เผาใหม่
ส่วนที่เผาเดิมลามสองวัน เช่นที่หนองหาน สันทราย ตามแนวคลองเตาไห ด้านหลังต.ช.ด. ตรงนี้เผาทุกปี ตามร่องน้ำเดิมๆ ปีนี้ก็สำเร็จเช่นเคย ไฟลามขึ้นเขาขยายวง ที่บ้านตาล ฮอด / ดอยเต่า มีกองใหญ่มากสองวันเช่นกัน
ไฟกลุ่มใหญ่ที่ตาก อช.น้ำตกพาเจริญ จุดกระจายทั้งป่า ตากหนักตั้งแต่ต้นปี มีนาคมมีไฟกลุ่มใหม่เปิดแนวรบใหม่อีก
จังหวัดอื่นๆ ทางแม่ฮ่องสอนที่คุมได้ดีมาตลอด ก็เริ่มมีไฟยาวตามแนวร่องหุบเขา เป็นกองๆ ตั้งแต่อ.เมือง ขุนยวม ลงไปแม่สะเรียง สบเมย ไม่มากเท่าปีปกติ แต่เป็นสัญญาณบอกเหตุ
พะเยา ดอยภูนาง เวียงลอ ปกติไหม้ ปีนี้ก็ไหม้ปกติ ภูนางเป็นกองๆ เจตนาเผาชัดเจน แม่จริมปีกลายคุมดี ปีนี้เริ่มกระจายกลางคืน สัญญาณขยายวง
สรุปรวมว่าหนัก
ปริมาณการเผาเปิดแนวรบใหม่ หากเกินจุดเหมาะสมไม่สมดุลกับกำลังการดับ จะเป็น critical point ของการไหม้ใหญ่ลามขึ้นไปอีก ไฟใหม่มา ฝ่ายดับได้แต่ยืนดูเพราะเอาไม่ทัน
เมื่อวานภาคเหนือขึ้นไปแตะ 1000 จุด (อีกครั้ง) เมื่อปีที่แล้วช่วงเดียวกัน ราว 1200 จุด สำหรับประเทศไทย ขนาดจำนวนจุด 1000-1500 จุด เป็นขนาดที่ใหญ่มาก เข้าเขตอันตรายแล้ว
กำลังพลในการดับไฟ ปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น คนที่ดับไฟได้ต้องฝึกมีกทักษะ ทุกปีมีการสวอปกำลังจากภาคอื่นๆ มาช่วยภาคเหนือ ปีนี้ก็มากันแล้ว ทั้งเสือไฟ อุทยาน และเหยี่ยวไฟ ป่าไม้ อาสาชาวบ้านช่วยได้ในระดับเบื้องต้น ถ้าไฟใหญ่เขาสูงได้แต่เฝ้าระวังทำแนวข้างล่าง
แต่ละจังหวัดมักไม่ประกาศการปฏิบัติการของตน สื่อสารให้ประชาชนในจังหวัดรู้ ว่ามีกำลังเข้าไปดับไฟที่ไหน อย่างไร ทำให้บางกองไม่มีเจ้าภาพไปดับ ปล่อยให้ลามก็มี หรือแค่มีกลุ่มที่แค่เฝ้าระวังเพราะกำลังจริงไม่พอ ก็มี
นับจากนี้ ยังมีพื้นที่เป้าหมายการเผาตามแพทเทิร์นเดิมๆ รอการเอาไฟไปจ่ออีก
สถิติไฟซ้ำซากที่ประเทศไทยรวบรวมไว้ และโดยประสบการณ์ของคนในพื้นที่จะรู้ว่า พื้นที่ไหนเสี่ยงถูกเผาจากนี้
เช่น ไฟที่หนองหาน สันทราย ซึ่งไหม้ตามร่องแม่เตาไห นั้นแค่หย่อมเดียว จากจุดกำเนิดปกติที่จะมีอีกหลายหย่อม หรือ ไฟสะเมิงด้านหลังที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเคยเป็นข่าวภูเขาไฟไปทั่วประเทศ นั่นก็ที่เก่าเวลาเดิม
หากมีการยกระดับปฏิบัติการ จัดกำลังเฝ้าระวังพิเศษเพิ่ม ดึงกำลังจากหน่วยปกติอื่น ๆ ร่วมลาดตระเวน เฝ้าจุดเสี่ยง สอดส่องเป้าหมายซึ่งแต่ละท้องถิ่นรู้กันดีว่าใคร ฯลฯ
อำนาจของ พรบ.ปภ. สามารถให้มีปฏิบัติการป้องกัน เมื่อคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยล่วงหน้า ก่อนจะเกิดไฟไหม้ป่า
ความเข้มข้นของค่ามลพิษจะไม่สูงมาก หากคุมขนาดปริมาณแหล่งกำเนิดไฟให้อยู่ระดับเหมาะสม
มีไฟ แต่ไม่กระทบรุนแรง
พื้นที่เสี่ยงระดับ airshed ของแอ่งเชียงใหม่ลำพูน คือ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ จาก สบเมย ขึ้นไปแม่สะเรียง สาละวิน อมก๋อย
พื้นที่เสี่ยง airshed ของแอ่งเชียงราย คือ ปางมะผ้า ปาย ไชยปราการ
คุมพื้นที่แหล่งกำเนิดซีกตะวันตก จะช่วยบรรเทาความเข้มข้นของ พะเยา แพร่ น่าน ซึ่งปกติจะพีคสุดในเดือนเมษายนทุกปีไป ด้วยเพราะเป็นท้ายลม ถูกอัดเข้ามา
มีนาคมนี้มีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนองพายุฤดูร้อน แต่หากสื่อสารไม่ชัดเจน จะกระตุ้นการเผา ข่าวสารแจ้งว่าฝนจะตกเป็นจิตวิทยาเร่งเผา
ควรเน้นย้ำ ประเด็นโอกาสกี่ % และพื้นที่ไหนบ้างที่อาจจะถูกกระทบ และหากมีการเอ่ยถึงโอกาสที่ไม่เกิดด้วย ดูดีกว่า การพาดหัวฝนจะมา บางสื่อใส่เพิ่มอีก มาแน่...
มาแน่ ก็เผาแน่
การเผาป่า คือการทำร้ายผู้อื่น เพิ่มวิกฤตให้วิกฤตยิ่งขึ้น
ถ้าเผาเพื่อทำเกษตร ทุกจังหวัดมีช่องทางให้ขออนุญาตแจ้งต่อจนท. จัดระเบียบเผา มันไม่กระทบมาก และเข้าใจได้
แต่เผาป่า มันเป็นผลกระทบขนาดใหญ่ ต้องผ่านกระบวนการเห็นพ้องที่ซับซ้อนขึ้น พิจารณาผลกระทบ ถ้าไม่ผ่านกระบวนการนี้ แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ก็ตาม เช่น ที่เคยเกิดที่ อช.ทับลาน ชิงเผาเพื่อหญ้าช้างแต่ถูกกรมฯ สั่งห้ามเพราะเป็นช่วงผลกระทบสูง
การใช้ไฟขนาดใหญ่ หากมีความจำเป็นต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องเปิดเผยต่อสังคมรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบเสียก่อน เท่านั้น
ในวาระที่กำลังเผชิญวิกฤต ทุกคนในสังคมเดือดร้อนถ้วนหน้า คนลอบเผาป่า คือ คนที่ก่ออาชญากรรมทำร้ายผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น