วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2568

สิ่งที่จะเกิดในมีนาคม : ทำใจไว้เลย

 



สิ่งที่จะเกิดในมีนาคม : ทำใจไว้เลย

มีนาคมเดินมาถึงแล้ว นี่คือสิ่งที่จะเกิดต่อไป
•••
สถิติที่ผ่านมา จำนวนจุดความร้อนของไทยจะพีคขึ้นสูงสุดในเดือนนี้ จะไปแตะระดับ 3 พันจุด/วัน อีสานยังมีจุดความร้อนเสมอจากภาคเกษตรแต่อากาศไม่ส้มไม่แดง ลมแรงหอบเข้าเหนือล่าง แต่สำหรับภาคเหนือนี่คือวิกฤตระดับหายนะที่เกิดซ้ำซาก มีนาคมเป็นเดือนที่ค่าอากาศทะลุเพดานเกือบทั้งเดือน
จังหวัดภาคเหนือตอนนี้มีจุดความร้อนต่อวันอย่างมากก็หลักสิบ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง ทุกจังหวัดจะมีจุดความร้อนเกิน 200 จุด เชียงใหม่ช่วงพีคๆ 400 จุดยังน้อยไปด้วยซ้ำ นั่นแปลว่า ขนาดของปัญหามันมากมายเกินกำลังรับมือจัดการไหว
•••
จำนวนจุดความร้อนมีนาคม พม่า-ลาว ก็พุ่งในปริมาณมากกว่าไทยเกือบสามเท่า ขนาบซ้าย-ขวา
มีนาคมเป็นเดือนแห่งไฟ พม่า-ลาว ว่ากันเป็นแสนจุดต่อเดือน ย้ำแสนจุดนะครับไม่ได้เขียนผิด เขาขึ้นไปหลักแสนมานานหลายปีต่อเนื่องแล้ว
และปีนี้คงจะหลักแสนอีกแน่นอน
•••
เมื่อปีที่แล้วฤดูล่ากุมภาพันธ์ไฟน้อยอากาศดี พอเข้ามีนาคมเท่านั้น สัปดาห์แรกไฟเริ่มพุ่ง จากนั้นก็ไหม้แบบวินาศสันตะโรชนิดทบต้นทบดอก
สำหรับปีนี้ โอกาสจุดความร้อนมีนาคมจะขึ้นสูงมีแน่นอน เพราะป่าแห้งสนิททุกป่า
เราไม่ควรกอดยึดผลสำเร็จและความสวยงามแห่งเดือนกุมภาพันธ์มาตั้งความหวังทอดต่อไปคลุมมีนาคมได้เลย มีแต่ต้องตั้งการ์ดขนาดหนัก เตือนสติว่าข้าศึกมาแน่ มาใหญ่ มาหนัก
•••
ลมที่มีอิทธิพลต่อฝุ่นควันในภาคเหนือ มีสองระลอก ต้นฤดูที่พัดจากใต้ หรืออ้อมใต้ขึ้นมาเป็นรอบแรก จากนั้นในราวๆ กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไปลมก็จะเปลี่ยน โดยจะเริ่มมีลมพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ เฉียงๆ ขึ้นจากอ่าวเมาะตะมะ ขึ้นมายังภาคเหนือซีกซ้าย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ได้รับอิทธิพลโดยตรง
ลมตะวันตกแต่ละปีมาไม่พร้อมกัน ปีก่อนโน้น (2566) ราววันที่ 20 มีนาคม ที่แม่สายเกิดวิกฤตหนักฝุ่นท่วมหนัก ส่วนปี 2567 ที่ผ่านมา ลมตะวันตกเริ่มทำงานราวๆ 11 ม่ีนาคม และ จากนั้นก็นำฝุ่นพม่าข้ามมาต่อเนื่องยาวไป
ในทางปฏิบัติ พรมแดนตะวันตกของเรา มักจะมีลมตะวันตกระดับล่างๆ (ต่ำกว่า 100 ม. ) มีรั่วพัดมาบ้างแล้วตั้งแต่ต้นเดือน จนมันจะเกิดเป็นกระแสลมตะวันตกสม่ำเสมอในระยะต่อไป เราอาจสังเกตได้จากแผนที่ชั้นลมบนระดับ 925 hPa หรือราวๆ ระดับ 600-700 ม. ของกรมอุตุ ถึงเวลานั้น อาจะเป็นลมสองสาย ซ้ายขวา โค้งมาปะทะกันที่ภาคเหนือ
•••
ลมตะวันตกจากพม่า ทำให้กราฟค่าฝุ่นของภาคเหนือราวๆ กลางเดือนมีนาคมจะพุ่งขึ้นจากปกติทันที (ดูกราฟค่าฝุ่นจากสเตตัสเก่าสองวันก่อนประกอบ) นั่นก็คือ ฝุ่นพม่าเข้ามาเป็นแบ็คกราวด์ของค่าสถิติฝุ่นภาคเหนือ ต่อให้เราไม่เผาเลย มันก็ส้ม แต่ถ้าเผาภายในเพิ่มมันก็ยิ่งแดงๆ
เป็นเช่นนี้ทุกปีจนเป็นแพทเทิร์นพฤติกรรมฝุ่นเหนือ ดูกราฟเถอะ พอถึงกลางมีนาคมมันก็ยกขึ้นทุกปี
•••
ค่าอากาศของแม่สาย เป็นดัชนีชี้ที่เชื่อถือได้ แม่สายปกติสงบสวยงามแต่พอลมตะวันตกทำงาน ค่าฝุ่นแม่สายจะสูงขึ้นแดงปุบปับ แบบน้ำป่าไหลหลาก
เพราะแม่สายเป็นด่านหน้าสุด ที่รับลมและฝุ่นควันพม่าตรงๆ 100%
ลมที่ไปแม่สายจะเฉียงตะวันตก/ใต้เล็กน้อย บางวันที่ลมแรงทิศทางจะพัดมาจากรัฐฉานตรงๆ
ลมแม่สาย ต่างจากลมเชียงราย ตัวเมืองเชียงราย รับลมตะวันตกเฉียงใต้เป็นหลัก ดังนั้นทิศทางฝุ่นที่เข้ามาเชียงรายมีฝุ่นไทย จากปางมะผ้า ปาย ไชยปราการ แม่สรวย รวมอยู่ด้วย
ถ้าจะแก้ปัญหาฝุ่นมือสองเข้าเชียงราย ต้องจัดการแหล่งกำเนิดในประเทศที่คุมได้ตามแนวแผนที่ดังที่กล่าว ไปชี้แต่พม่าล้วนๆ ไม่ได้
•••
ต้นฤดูไฟเกิดจากโซนใต้ แถวตาก อุตรดิตถ์ จากนี้ ไฟจะไหม้โซนกลางและเหนือต่อไป แม่ฮ่องสอนปลอดโปร่งมานานจะเริ่มไหม้จากนี้ เชียงใหม่แถวๆ ป่าใกล้เมือง ออบขาน หางดง สะเมิง ศรีลานนา ลำพูนป่าแม่ทาข้างบน ลำปางป่างาว ถ้ำผาไท แพร่เมืองสอง ฯลฯ จนที่สุดก็ไหม้ครบ
ปีนี้มีการจัดกำลังป้องกัน ลาดตระเวนเพิ่มมากขึ้น ก็คงต้องทำงานอุดช่องกันเข้มงวดขึ้นนับจากนี้
•••
มีไฟกองใหญ่เป็นแสนไร่ทุกปี ตรงข้ามป่าสาละวินไหม้ลงมาจากเขตป่ารัฐกะยา(คะเรนนี) ตรงจะงอยงวงช้างหากดูแผนที่ ตรงนั้นมีพรมแดนทางบกติดกัน เลยลงไปมีน้ำสาละวินกั้น ตรงนั้นแหละอันตราย เพราะไฟข้ามมาทีไรใหญ่ทุกที
หากไหม้ในช่วงลมตะวันตกทำงาน พื้นที่เชียงใหม่ตอนในจะเดือดร้อน
วันก่อนได้คุยกับ ผอ.พรเทพ เจริญสืบสกุล สบอ.16(สาขาแม่สะเรียง) ว่าป่าสาละวินเป็นไงบ้าง เพราะมือดี หน.แต้ เกษียณไปแล้ว ผอ.บอกว่าหน.ใหม่ก็เดินตามรอย ข้ามไปเจรจากับผู้นำชนกลุ่มน้อยฝั่งโน้น ขอเรื่องไฟ ขอไม่ให้ข้ามมา ไม่รู้จะได้ผลขนาดไหน
แต่อย่างไรก็ตาม ต่อให้ไฟทางโน้นไม่ข้ามมา เฉพาะกลุ่มป่าสาละวินตามแนวตะวันตกจากสบเมยขึ้นมา มีผลต่อสภาพอากาศและค่าฝุ่นพื้นที่ตอนในแน่นอน หากไหม้ในช่วงลมเปลี่ยน
(แปลว่า ถ้าจะเกิดไฟจริง ขอเกิดเร็วจบๆ ในช่วงต้นมีนาคมได้มั้ยยยยยย)
•••
แนวคิดการแก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือแบบใหม่ ควรยึดการบริหารผลกระทบเป็นหลักสำคัญ คือกราฟค่าฝุ่นอย่าให้สูงเข้มมาก แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า อย่าแดงมาก ขอส้มๆ ก็พอนะพ่อนะ
การใช้สถิติแค่จุดความร้อนโดดๆ ไม่เห็นอะไรมาก ต้องเพิ่มพารามิเตอร์เทียบจะเห็นอะไรลึกซึ้งขึ้น การเห็นไฟเร็ว เข้าถึงเร็ว ดับเร็วตามนโยบายใหม่ มีผลต่อขนาดมลพิษแน่นอน สถิติต้นฤดูปีนี้ ที่ได้จากอธิบดีอุทยานฯ
ค่าเฉลี่ยในห้วงเวลาที่เท่ากัน hotspot ปีที่แล้ว 1 จุด เทียบรอยไหม้ 137 ไร่ มาปีนี้ เฉลี่ย 1 จุด ไหม้ 20 ไร่ เป็นดัชนี้ปฏิบัติการ
ปีนี้การเน้นย้ำให้สอดส่องไฟด้วยตาเปล่า (โดรน/หอสังเกต) เข้มขึ้นขึ้น ไฟลามขนาดเกินสัปดาห์ มีไม่กี่กลุ่มป่า ประกอบกับการเพิ่มมาตรการลาดตระเวนด้วยกำลังผสม เป็นมาตรการใหม่ยกระดับขึ้นมา
ถ้าจำนวนไฟ จำนวนกองใหญ่ที่ไหม้ลามไม่จบหลายวัน และสถิติการไล่ดับไม่ให้ขนาดพื้นที่เสียหายขยายวง เกิดลดลงจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ค่าอากาศในช่วงปลายมีนาคมจะไม่ถึงกับแดงมาก
เป้าหมายที่อยากเห็นคือ การบริหารจัดการอย่าให้กราฟค่าฝุ่นแหลม ขอให้ค่าเฉลี่ยมลพิษลดลงๆ ทุกปี เป็นดัชนีใหม่ที่มีน้ำหนัก มากกว่าแค่นับจำนวนจุดความร้อน
เช่น ถ้าลมเปลี่ยนพัดจากตะวันตก เกิดมีไฟตามแนวพรมแดนกลุ่มป่าสาละวินมาก ก็ควรทุ่มเทสรรพกำลังไปจัดการกลุ่มไฟที่ว่า เพราะมันเป็นต้นทางลมเข้าแอ่งตอนใน มีผลต่อกราฟค่าฝุ่น .. เป็นต้น
•••
มีนาคมนี้จะเริ่มมีแปลงเกษตรที่สูงในป่าทยอยต้องใช้ไฟทำกิน มากสุดที่แม่ฮ่องสอน ไม่รู้นโยบายจะคุยหาทางกันอย่างไรแต่ที่สุดคงต้องจัดการประณีตแบบ controlled burns ไม่งั้นอดตายปัญหาอื่นตามมาอีก แค่อยากจะเพิ่มเติมว่า ให้บริหารผลกระทบอย่างประณีต เพราะในช่วงแรกๆ ลมแม่ฮ่องสอนพัดขึ้นบน
ถ้าจัดการในช่วงลมพัดขึ้นบน ให้ควันเข้าป่ารัฐกระเหรี่ยงลอยขึ้นฟ้าไปเลย จะยิ่งดีงาม
หน่วยงานเกี่ยวข้อง กรมอุตุฯ ฝ่ายวิชาการ อว. พอมีโมเดลพยากรณ์การพัดเปลี่ยนของลมหรือไม่ ทั้งระดับล่าง และ ระดับ 925hPa
เพราะลมตัวนี้ เป็นปัจจัยสำคัญของการออกแบบมาตรการนโยบายแก้ปัญหาต่อไป ทั้งปีนี้ และปีต่อๆ ไประยะยาว
•••

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น